top of page

เรื่องของ "สกิมเมอร์"

Updated: Jun 12, 2019


อุปกรณ์กรองผิวน้ำ หรือเซอเฟซสกิมเมอร์ (Surface Skimer) หรือที่ผู้เลี้ยงมักเรียกชื่อสั้นๆ ว่า "สกิมเมอร์" เป็นอุปกรณ์พื้นฐานสำหรับบ่อปลาคาร์พที่จำเป็นต้องมีในทุกกรณี ไม่ว่าจะเป็นกรณีที่ผู้เลี้ยงออกแบบไว้สำหรับการดึงผิวน้ำเข้าสู่ระบบกรอง หรือกรณีการล้นผิวน้ำเบาๆ ทิ้งนอกระบบ เนื่องจากเป็นที่ทราบกันดีว่าของเสียจากปลาคาร์พไม่ได้มีแต่เฉพาะตะกอนหนักจำพวกขี้ปลา แต่ยังมีสารแขวนลอยอื่น อาทิ เมือกปลา ละอองฝุ่น ที่ลอยอยู่บนผิวน้ำ ซึ่งสะดือบ่อที่อยู่ด้านใต้ไม่สามารถเก็บสารแขวนลอยเหล่านี้เข้าสู่ระบบกรองเพื่อบำบัดได้ เป็นต้นเหตุของปัญหาฟองผิวน้ำที่ดูแล้วไม่สวยงาม และแลดูคุณภาพน้ำไม่มีสุขอนามัยที่ดี

โดยปกติบ่อปลาคาร์พจะมีการติดตั้งสกิมเมอรสำหรับดึงสารแขวนลอยดังกล่าวเข้าระบบกรองเพื่อบำบัดอยู่แล้ว แต่ทั้งนี้พบว่ามีผู้เลี้ยงหลายรายยังคงพบปัญหาผิวหน้าน้ำไม่สะอาดแม้ว่าบ่อเลี้ยงจะได้ติดตั้งสกิมเมอร์แล้วก็ตาม

ในประเด็นแรกจึงขอนำเสนอหลักการทำงานของสกิมเมอร์ เพื่อจะได้ทำความเข้าใจและนำไปประยุกต์ใช้ได้อย่างถูกต้องและเต็มประสิทธิภาพ โดยสกิมเมอร์เป็นอุปกรณ์ที่จะทำงานได้บนเงื่อนไขของความสัมพันธ์ระหว่างระดับน้ำบ่อเลี้ยงและบ่อกรอง (ช่องกรองที่เชื่อมกับสกิมเมอร์) โดยอาศัยแรงโน้มถ่วงของโลก ตามหลักการทั่วไปคือ น้ำไหลจากที่สูงกว่า (บ่อเลี้ยง) ลงที่ต่ำกว่า (บ่อกรอง) ดังนั้นแล้ว การที่สกิมเมอร์จะมีแรงดึงได้ดีหรือไม่ จึงขึ้นอยู่กับวิธีการจัดการระดับน้ำในระบบ

สำหรับวิธีการจัดการระดับน้ำในระบบนั้นมีหลายวิธี โดยในกรณีบ่อที่รอบน้ำบ่อเลี้ยง/บ่อกรองมีความเหมาะสมแล้ว แต่ยังพบว่าระดับน้ำในบ่อเลี้ยงและบ่อกรองมีระดับเท่ากัน (เกิดจากสะดือบ่อมีขนาดใหญ่กว่าแรงปั้มน้ำมาก) ซึ่งทำให้สกิมเมอร์ไม่มีแรงดึงผิวน้ำ ผู้เลี้ยงอาจใช้วิธีการอั้นลดแรงสะดือบ่อ โดยวิธีการที่ง่ายและสามารถกำหนดระดับน้ำได้ดีคือการใช้ท่อบล็อคสะดือบ่อเสียบทิ้งไว้ และค่อยๆ ตัดท่อให้สั้นลงจนกว่าจะสามารถกำหนดให้มีระยะห่างของระดับน้ำระหว่างบ่อเลี้ยงและบ่อกรองอยู่ที่ 10 เซนติเมตร โดยประมาณ ซึ่งวิธีการนี้จะลดทอนแรงดูดของสะดือบ่อลงบ้าง แต่ไม่กระทบต่อรอบน้ำโดยรวมของระบบอย่างแน่นอน เนื่องจากรอบน้ำทั้งระบบนั้นถูกกำหนดโดยขนาดของปั้มน้ำอยู่แล้ว และการอั้นสะดือบ่อไม่ทำให้แรงปั้มน้ำลดลง ในเงื่อนไขที่ว่าน้ำสามารถไหลวนกลับไปยังปั้มน้ำได้ทัน ไม่ล้นออกนอกระบบทางใดทางหนึ่ง (Output = Input)

เมื่อผู้เลี้ยงสามารถจัดการปัญหาเรื่องระดับน้ำได้แล้ว ขั้นตอนต่อไปคือการจัดการกับระดับความสูงของสกิมเมอร์ โดยหลักการที่สกิมเมอร์จะทำงานได้อย่างเต็มประสิทธิภาพที่สุด คือการตั้งระดับให้ปากสกิมเมอร์เฉือนผิวหน้าน้ำให้บางที่สุด ให้สกิมเมอร์ดึงเฉพาะสารแขวนลอยบางๆ บนผิวน้ำเท่านั้น และเพื่อไม่เป็นการลดทอนกำลังดูดของสะดือบ่อมากจนเกินไป ตามหลักการที่ว่า "สกิมเมอร์แรงขึ้น สะดือบ่อจะเบาลง"

ทั้งนี้ มีอีกปัจจัยสำคัญที่มีผลต่อประสิทธิภาพการทำงานของสกิมเมอร์โดยตรง นั่นก็คือ "ทิศทางการไหลของน้ำในบ่อเลี้ยง" โดยมีผู้เลี้ยงหลายรายที่แม้ว่าสามารถจัดการกับระดับน้ำและระดับของสกิมเมอร์ตามที่กล่าวมาข้างต้นได้แล้ว แต่ยังพบปัญหาว่าผิวหน้าน้ำในบ่อเลี้ยงยังไม่สะอาดใสจนเป็นที่พอใจ (ยกเว้นกรณีฟองแตกตัวช้าซึ่งเป็นเรื่องของคุณภาพน้ำโดยรวม ไม่เกี่ยวกับการทำงานของสกิมเมอร์โดยตรง) โดยปัญหาดังกล่าวเกิดจากทิศทางการไหลของน้ำในบ่อเลี้ยงขัดขวางแรงตึงผิวน้ำหรือเกิดจุดอับกระแสน้ำที่บริเวณสกิมเมอร์ โดยวิธีการจัดการทิศทางการไหลของกระแสน้ำในแต่ละบ่ออาจมีความแตกต่างกัน ขึ้นอยู่กับหลายปัจจัยโดยเฉพาะอย่างยิ่งคือรูปล่างลักษณะของบ่อเลี้ยง ซึ่งผู้เลี้ยงควรสังเกตทิศทางน้ำในบ่อเลี้ยงว่ามีจุดอับส่วนใดหรือไม่ และแก้ปัญหาจุดอับนั้นโดยอาจปรับทิศทางของปั้มน้ำ หรือย้ายแท่งเติมออกซิเจนไปไว้ในจุดที่เหมาะสม (แนะนำให้วางไว้ในมุมตรงข้ามสกิมเมอร์ หันทิศทางน้ำเข้าหาสกิมเมอร์)

มาถึงจุดนี้ ผู้เลี้ยงก็จะสามารถใช้งานสกิมเมอร์ได้อย่างเต็มประสิทธิภาพ โดยใช้หลักการ คือ

  1. จัดการระดับน้ำบ่อเลี้ยง/บ่อกรอง

  2. จัดการระดับของสกิมเมอร์ และ

  3. จัดการทิศทางกระแสน้ำในบ่อเลี้ยง

...แล้วผลลัพธ์จะออกมาดี

Cr. APD




Commentaires


© 2023 by The Terminators. Proudly created with Wix.com

bottom of page